ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (86): รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (86): รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

เศรษฐศาสตร์

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นับเป็นรัฐประหารครั้งที่หกในรอบ 38 ปี หากนับตามรัฐประหารครั้งก่อนหน้า อันได้แก่ รัฐประหารมิถุนายน พ.ศ. 2476, รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2490, รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2494, รัฐประหารกันยายน พ.ศ. 2500 และรัฐประหารตุลาคม พ.ศ. 2501 นอกจากรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จะเป็นรัฐประหารครั้งที่หกแล้ว ยังเป็นการรัฐประหารที่เรียกว่า “รัฐประหารตัวเอง” ด้วย และหากนับการรัฐประหารที่เป็นการทำรัฐประหารตัวเอง รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นับเป็นการทำรัฐประหารตัวเองครั้งที่ 2 ในรอบ 38 ปี โดยครั้งแรกคือ รัฐประหารพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร  ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อและยศเหมือนตัวเองเช่นกัน รัฐประหารตัวเองครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์ชัยอนันต์เรียนจบปริญญาเอกและกลับมาเมืองไทยได้ 3 เดือน ตอนนั้น อาจารย์ยังไม่ได้มาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่สอนที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์หรือนิด้า เรียกว่าอาจารย์ชัยอนันต์เป็นดอกเตอร์หมาดๆ ที่ยังหนุ่มมาก อายุเพียง 27 ปีเท่านั้น สมัยนั้นยากที่จะหาคนจบปริญญาเอกด้วยอายุเพียง 27 ถ้าจะมีใครเกทับเรื่องจบปริญญาเอกเร็วก็น่าจะได้แก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่จบปริญญาเอกมาด้วยอายุเพียง 26 ปี เฉือนอาจารย์ชัยอนันต์ไปเพียงปีเดียว

แต่ถ้าใครนึกสนุกอยากจะเรียงลำดับอายุที่จบปริญญาเอกตั้งแต่ 26 – 27- 28 ของนักวิชาการปัญญาชนไทย ก็น่าจะได้แก่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (26) อาจารย์ชัยอนันต์ (27) และศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะอาจารย์บวรศักดิ์จบปริญญาเอกกฎหมายจากฝรั่งเศสตอนอายุ 28 แต่ถ้านับอาจารย์นักวิชาการรุ่นใหม่หน่อย (คือใหม่กว่าทั้งสามท่านที่กล่าวมา) ก็จะพบว่า มีผู้ทำลายสถิติการจบปริญญาเอกไปแล้วอย่างน้อยท่านหนึ่ง ด้วยอายุเพียง 25 ปี และแถมยังจบปริญญาเอกด้านกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Ivy Plus (Ivy Plus จะมีจำนวนมหาวิทยาลัยชั้นนำมากกว่า Ivy League) และผู้ที่จบปริญญาเอกกฎหมายจากสแตนฟอร์ดด้วยอายุเพียง 25 นี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก
ส่วนตัวผมจบปริญญาเอกมาก็อายุปาเข้าไป 33 แล้ว เมื่อพูดถึงอายุ 33 จะพบว่า หลังจากที่อาจารย์ชัยอนันต์จบปริญญาเอกอายุ 27 ปี ต่อมาเพียงไม่กี่ปี ท่านก็ได้ศาสตราจารย์โดยใช้เวลาเร็วมาก นั่นคือ ท่านเป็นศาสตราจารย์ตอนอายุราวๆ 33-35 เท่านั้น ส่วนตัวผมเป็นศาสตราจารย์ก็ปาเข้าไปห้าสิบกว่าแล้ว

เมื่อพูดถึงคนที่เป็นศาสตราจารย์เร็ว ทำให้ผมอดนึกถึงนักวิชาการและนักการเมืองชาวอังกฤษท่านหนึ่งไม่ได้ บุคคลที่ว่านี้ชื่อ อินอค พาวเวล (Enoch Powell) ในปี ค.ศ. 1937 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ด้วยอายุเพียง 25 ปี ขนาดได้เป็นศาสตราจารย์ด้วยวัยเพียง 25 ปี เขายังรู้สึกเสียดายที่ได้ช้าไปหน่อย เพราะเขาตั้งใจจะได้ศาสตราจารย์ก่อนอายุ 24 ด้วยซ้ำ เพราะคู่แข่งในใจของเขาคือ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษากรีก-ละตินตั้งแต่อายุเพียง 24 นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 24 ที่ว่านี้คือ ฟรีดริช นีทเชอ (หรือที่ออกเสียงแบบไทยๆว่า นิทเช่)